
กองทัพเรือสหราชอาณาจักรเผยแพร่ผลงานการออกแบบเรือดำน้ำและโดรนใต้น้ำแห่งอนาคต
ซึ่งมาจากแนวคิดของวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์อายุ 16-34 ปี
โดยยานยนต์ใต้น้ำเหล่านี้มีรูปร่างและกลไกการทำงานเลียนแบบสัตว์ทะเลหลายชนิด
เพื่อช่วยประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจทางทหาร
นาวาโท
ปีเตอร์ พิบคิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายหุ่นยนต์ประจำกองเรือของราชนาวีอังกฤษบอกว่า
ได้รวบรวมแนวคิดใหม่ๆ ในการประดิษฐ์ยานยนต์ใต้น้ำจากวิศวกรของกระทรวงกลาโหมและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่างโรลส์-รอยซ์และล็อกฮีด
มาร์ติน เพื่อตอบโจทย์การใช้ยานยนต์ใต้น้ำสู้รบทำสงครามในอนาคตอีกราว 50
ปีข้างหน้า โดยมุ่งเน้นให้มีราคาถูกแต่มีอานุภาพร้ายแรงไม่เป็นรองใคร
ซึ่งหากเทคโนโลยีที่จินตนาการไว้เหล่านี้ถูกทำให้เป็นจริงขึ้นมาได้แม้เพียง 10%
ก็จะทำให้ราชนาวีอังกฤษเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีการป้องกันประเทศยุคใหม่ได้แล้ว
เรือดำน้ำแห่งอนาคตลำนี้มีรูปร่างคล้ายปลากระเบนราหูน้ำเค็มหรือปลากระเบนแมนตา
ผสมกับฉลามวาฬยักษ์ใหญ่ปากกว้างแห่งท้องทะเล โดยลำตัวเรือสามารถผลิตได้จากโลหะผสมและอะคริลิกที่แข็งแกร่งเป็นพิเศษด้วยวิธีการพิมพ์
3 มิติ พื้นผิวภายนอกสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างได้ ขับเคลื่อนด้วยความเร็ว 150 นอต
โดยดูดน้ำเข้าไปทางหัวเรือและพ่นออกทางท้ายเรือ
กระเบนโลหะตัวนี้สามารถรองรับลูกเรือได้
20 คน สามารถออกปฏิบัติการในทะเลได้นานหลายเดือน
และเข้าจอดเทียบท่ากับสถานีใต้น้ำที่จะสร้างขึ้นหลายแห่งทั่วโลกได้
โดรนใต้น้ำที่มีรูปร่างคล้ายปลาไหลหรืองูทะเลนี้
จะถูกปล่อยจากคลังเก็บอาวุธของยานแม่นอติลุส 100 เพื่อทำหน้าที่สำรวจ ลาดตระเวน
หรือแม้กระทั่งติดอาวุธเพื่อโจมตียานยนต์ใต้น้ำของฝ่ายศัตรู
สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเงียบกริบเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร
โดยใช้การเคลื่อนที่แบบคลื่นไซน์ (Sine wave) หรือการบิดลำตัวโค้งเป็นอักษรเอส (S) เพื่อเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเช่นเดียวกับงูนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม
วัตถุประสงค์เบื้องต้นในการพัฒนาโดรนปลาไหลนี้
ก็เพื่อใช้เป็นตัวปล่อยแคปซูลเซ็นเซอร์จำนวนมากใต้น้ำเพื่อสร้างเครือข่ายการสื่อสาร
โดยเซ็นเซอร์เหล่านี้จะใช้ลำแสงเลเซอร์เป็นตัวกลางสื่อสารกัน
โดรนชนิดนี้จะสร้างจากวัสดุพอลิเมอร์ประเภทเดียวกับที่ใช้ทำแคปซูลบรรจุผงซักฟอกชนิดใส่ในเครื่องซักผ้านั่นเอง
ทำให้มันสามารถละลายตัวเองได้หากมีความจำเป็นระหว่างปฏิบัติภารกิจลับ
โดรนจิ๋วละลายได้ชนิดนี้สามารถยิงปล่อยออกมาจากโดรนปลาไหลได้เป็นกลุ่มใหญ่
และสามารถบังคับให้เข้าขัดขวางความเคลื่อนไหวของยานใต้น้ำของศัตรูได้
นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในงานลาดตระเวน นำทาง สอดแนม
หรือลอบติดตามเรือดำน้ำของฝ่ายตรงข้ามได้
โดรนชนิดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานแทนตอร์ปิโดรุ่นเก่า
โดยติดตั้งอาวุธไว้ได้หลายชนิด
ทั้งสามารถปรับรูปแบบการโจมตีให้มุ่งเป้าไปยังเรือรบ เรือดำน้ำ
หรือแม้แต่เป้าหมายบนบกก็ได้
การที่โดรนปลาบินสามารถทะยานขึ้นเหนือน้ำและดำดิ่งลงน้ำลึกได้ทั้งสองทาง
ทำให้เรดาร์ตรวจจับได้ยาก เนื่องจากสัญญาณถูกรบกวนด้วยคลื่นผิวน้ำ
และในกรณีที่ถูกตรวจจับได้
โดรนปลาบินสามารถใช้พลังงานจากพลาสมาแบตเตอรีดำดิ่งหนีไปยังที่ปลอดภัย
อ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/international-41079646
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น